วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2562

1. เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัว

自己紹介から始まる。

        สวัสดีครับ นี่เป็นครั้งแรกเลยที่ผมเริ่มเขียนบล็อก เพราะอะไรน่ะเหรอ ก็เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในวิชาภาษาศาสตร์ภาษาญี่ปุ่นประยุกต์ไงล่ะ ในบทความนี้จะเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัว ตามด้วยสิ่งที่ได้จากการเรียนวิชาภาษาศาสตร์ภาษาญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ครับ ก่อนอื่นเลยก็ขอยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกของผมนะครับ

1.1. ขอแนะนำตัวก่อนนะ

        ผมชื่อกิตติพิชญ์ ตามที่เห็นในหน้าแรกของบล็อกนี้แหละครับ ผมเขียนด้วยตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นว่า キッティピット ส่วนชื่อเล่นก็คืออั้นนะครับ ผมไม่ค่อยถนัดการเขียนบล็อกเลยนะ ก่อนที่จะมาเขียนนี่ก็ไม่รู้จะเขียนอะไร แต่วันนี้พอมีไอเดียอยู่บ้าง ก็เลยลองเขียนดูครับ ผมหวังว่าผมจะเขียนบล็อกให้ชำนาญขึ้น หลังจากที่เรียนวิชาภาษาศาสตร์ภาษาญี่ปุ่นประยุกต์ไปจนถึงตอนปลายเทอมครับ แล้วผมก็หวังว่าจะนำทักษะนี้ไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต ถ้าจะพูดถึงเรื่องอาชีพในอนาคตแล้วเนี่ย ผมอยากเป็นนักแปลครับ ตอนนี้กำลังเก็บสะสมประสบการณ์การแปลด้วยการแปลไลท์โนเวลของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งอยู่ครับ เพราะฉะนั้นแล้ว ในเทอมนี้นอกจากจะมีรายงานกับการบ้านวิชาต่าง ๆ แล้ว ก็มีงานแปลเพิ่มมาอีกด้วย แล้วยังต้องเตรียมตัวสอบชิงทุนแลกเปลี่ยนของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วยสิ อย่างไรก็ตาม งานต่าง ๆ ที่มีในเทอมนี้เป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้สักอย่าง ผมอยากจะพยายามเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดครับ

1.2. การเรียนในสัปดาห์นี้

ภาษาศาสตร์ญี่ปุ่นประยุกต์คืออะไร
        หากสงสัยว่าภาษาศาสตร์ญี่ปุ่นประยุกต์คืออะไรนั้น ในคาบเรียนของสัปดาห์นี้มีคำตอบอยู่ หากจะเอาความหมายตามที่เขียนอยู่ในเอกสารประกอบ ก็คือ ศาสตร์ที่ค้นคว้าทั้งในเชิงทฤษฎีและในเชิงประจักษ์เกี่ยวกับโจทย์ปัญหาของมนุษย์ในประเด็นหลัก ก่อนที่จะได้เรียนผมเข้าใจว่า ภาษาศาสตร์ญี่ปุ่นประยุกต์ ก็คือการนำเอาทฤษฎีภาษาศาสตร์ญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ แต่สิ่งสำคัญคือจะประยุกต์ใช้อย่างไร ในการเรียนการสอนนี้ผมได้เรียนรู้ว่า ที่สำคัญคือต้องตอบโจทย์มนุษย์ให้ได้ การประยุกต์ในทีนี้ก็จำเป็นต้องรับรู้ว่ามนุษย์มีปัญหาในด้านภาษาอย่างไร แล้วค่อยแก้ปัญหาในจุดนั้น
        เช่น ภาษาศาสตร์เปรียบต่าง คือการเทียบระหว่างภาษาต่างประเทศกับภาษาแม่ เพื่อให้รับรู้ความแตกต่างของภาษา เหตุใดจึงต้องรับรู้สิ่งนี้ล่ะ เพราะว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะนำความเคยชินในตอนที่ใช้ภาษาแม่ไปใช้กับอีกภาษาหนึ่งได้ ซึ่งส่วนมากจะทำให้ผิดหลักภาษาของอีกภาษาหนึ่งได้ ผู้ที่จะเรียนภาษาจึงต้องรับรู้ความแตกต่างไว้ เพื่อไม่ให้นำความเคยชินในภาษาแม่ไปปรับใช้กับภาษาอื่น

การแนะนำตัวที่น่าสนใจเป็นอย่างไร
        ต่อจากนี้ก็จะเกี่ยวกับกิจจกรรมในห้อง กิจกรรมที่เด่น ๆ ของสัปดาห์นี้คือ การแนะนำตัวอย่างไรให้มีเอกลักลักษณ์เฉพาะตัว โดยแบ่งเป็นสองแบบคือ การแนะนำตัวเพื่อพบกัน และการแนะนำตัวเพื่อสมัครงาน ตอนแรกผมเข้าใจว่าการแนะนำตัวคือการบอกชื่อตนเอง แล้วบอกข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวเอง แต่แบบนั้นมันดูจำเจไปใช่ไหมครับ สิ่งที่ได้เรียนจากวันนี้ก็คือการแนะนำตัวที่น่าสนใจ และดึงดูด ผมได้เรียนรู้การแนะนำตัว และเทคนิคต่าง ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน โดยเฉพาะการสร้างเรื่องราว หรือที่เรียกว่า Episode นั่นแหละครับ วิธีการนี้จะทำให้คนอื่นจดจำเราได้ดียิ่งขึ้น เพราะการมีเรื่องราวสอดแทรกอยู่ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังจินตนาารเรื่องราวในหัวตามไปด้วยสินะครับ คิดว่างั้นนะ
        ยิ่งไปกว่านั้นถ้าจะทำให้ดีขึ้นไปอีกก็ต้องเล่าเรื่องที่เราคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อคนฟังหรือคนอ่าน จากตัวอย่างที่เรียนมาก็มีคนที่เล่าประมาณว่า เขาเป็นคนชอบวาดรูป ถ้าอยากได้รูปหน้าตรงล่ะก็ให้เขาวาดให้ก็ได้ ผู้ฟังหรือผู้อ่านก็อาจจะรู้สึกว่าอยากให้เขาวาดรูปให้จังเลยนะ แต่ว่าอย่าอวดตัวจนเกินไปล่ะ เขาไม่ได้บอกตรง ๆ ว่าเขาวาดรูปเก่ง เพราะอาจจะมีคนไม่ชอบอะไรแบบนี้ก็ได้ เขาเขียนว่า เขาชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบ แล้วก็ชอบไปวาดรูปในสถานที่ต่าง ๆ ทำให้รู้สึกได้ว่าเขามีประการณ์และทักษะในการว่าดรูปสูง
        นอกจากนี้การแนะนำเพื่อสมัครงาน ก็ต้องแสดงตนให้เห็นว่าสามารถทำงานได้ เช่นสำหรับการสมัครงานในบริษัทที่ต้องแสดงตนให้เห็นว่าสามารถทำงานเป็นทีมได้ อาจจะเล่าเกี่ยวกับทัศนคติของตนว่าการทำงานเป็นทีมคืออะไร หรือจะเล่าถึงความผิดพลาดในอดีตแล้วแก้ไขความผิดพลาดนั้นได้อย่างไร หรือจะเล่าว่าเราเคยทำงานอย่างไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จ ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์มาก สามารถนำไปเป็นแนวทางเขียนใบสมัครงานได้ด้วย
        จากเทคนิคดังกล่าว ผมก็เริ่มเขียนแนะนำตัวเองบ้าง และคิดว่าต่อจากนี้จะจดจำประสบการณ์ทำงานที่สำคัญ ๆ ของตนเอง เพื่อเอาไปเป็นวัตถุดิบในการเขียนสมัครงานในภายภาคหน้าครับ
        อันนี้เป็นการแนะนำตัวที่ผมลองเขียนเพื่อที่จะส่งเป็นการบ้านครับ ตามภาพเลยครับ


        ในสัปดาห์นี้ผมได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างเลยครับ นอกจากนี้ผมก็ได้เรียนเรื่องภาษาพูดกับภาษาเขียนอีกด้วย แต่ผมคิดว่าผมเขียนบล็อกมายาวแล้ว เรื่องนั้นอาจจะต้องแยกมาเขียนเป็นอีกบทความหนึ่งครับ ส่วนจะได้เขียนเรื่องนั้นหรือไม่นั้นก็แล้วแต่ว่าผมจะสะดวกหรือเปล่า 55555
        สำหรับท่านผู้อ่านที่อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว คิดว่าบทความนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ หากมีความคิดเห็นหรือคำถามอะไรก็มาคอมเม้นต์ได้ทุกเมื่อเลยนะครับ
        ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ :)

2 ความคิดเห็น:

  1. ที่บอกในห้องนะคะ 将来翻訳者を目指します ให้เปลี่ยนเป็น 目指しています ให้ใช้รูป ていますเพราะเรามุ่งหวังจะเป็นนักแปลอยู่(มุ่งในจุดหนึ่งในอดีต สภาพนั้นต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน) แม้จะมีคำว่า 将来 อยู่ก็อย่าสับสน แต่เรา(ตอนนี้ก็)ยังมุ่งหวังอยู่  ถามว่ารูป 目指します มีไหม จริงๆก็มีแต่ใช้แล้วเน้นความรู้สึก(ความตั้งใจ ณ จุดนั้นมากๆ) ใส่อารมณ์เหมือนพูดอารมณ์ประมาณ 目指します!! "เอาหล่ะ ผมว่าจะเป็นนักแปล !" เน้นความตั้งใจ มุ่งหวัง(เน้น) ณ จุดนั้น ในการแนะนำตัวแบบนี้จึงใช้ไม่ได้ค่า

    ตอบลบ
  2. ดีจังที่มีแนวทางการทำอาชีพในอนาคตแล้ว แถมตอนนี้ยังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปด้วย อีกอย่างคือเอามาเขียนเป็นส่วนของการแนะนำตัวได้ด้วย บูรณาการยอดเยี่ยม5555555

    ตอบลบ

10. บทสรุป

     สวัสดีครับ ตอนที่ผมกำลังเขียนบล็อกอยู่นี้ก็ตอนตีหนึ่งกว่าๆ แล้ว อยากจะบอกไว้ในที่นี้ว่า บล็อกนี้เป็นบล็อกสุดท้ายแล้วนะครับ ผมจะมาสรุปเก...