วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

2. SLA คืออะไร

     วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่อง SLA ซึ่งย่อมาจาก Second Language Acquisition ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 第二言語習得
     ในบทความที่ 1 เราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่าภาษาศาสตร์เปรียบต่างแล้ว มันมีชื่อเรียกว่า Contrastive Analysis หรือ CA  ศาสตร์นี้ศึกษาเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดในการเรียนภาษาที่สองใช่ไหมล่ะครับ ซึ่งข้อผิดพลาดอาจเกิดจากความเคยชินในการใช้ภาษาแม่ก็เป็นได้ ดังนั้นจึงต้องเปรียบเทียบภาษาแม่กับภาษาที่สองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลากดังกล่าว
     ต่อมาจึงมีคนเสนอแนวคิดว่าแทนนที่จะป้องกันข้อผิดพลาด เรามาดูสิ่งที่ผู้เรียนใช้กันผิดๆ ดีกว่า จึงเกิดเป็นศาสตร์ Error Analysis แต่มีปัญหาคือผู้เรียนมักหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด และเลือกใช้สำนวนที่ใกล้เคียงกัน จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพรวมทั้งหมดได้ การศึกษาข้อถูกของผู้เรียนจึงสำคัญด้วย
     นอกจากการศึกษาข้อผิดข้อถูกแล้ว SLA ได้เกิดขึ้นโดยเน้นไปที่การศึกษาภาษาระหว่างกลาง (Interlanguage : 中間言語)
     ภาษาระหว่างกลางไม่ใช่ทั้งภาษาแม่ (L1) และภาษาที่สอง (L2) แต่เป็นภาษาของผู้เรียน L2 ในขั้นที่ยังไม่พัฒนาเป็น L2 กล่าวคือยังใช้ความคุ้นเคยจาก L1 มาใช้ในการเรียน L2 อยู่นั่นเอง

     แล้วก็มีบุคคลหนึ่งที่จะแนะนำให้รู้จักครับ ก็คือ Noam Chomsky นั่นเอง นี่คือภาพจาก Wikipedia
(ชื่อจำยากครับ อย่าเขียนเป็น Chom Noamsky นะ ผมเอาไปเสิร์ชในอากู๋มาแล้ว งงเลย55555)
     เดิมทีมีคนเชื่อว่ามนุษย์จะเรียนรู้ภาษาได้ด้วยการได้รับ input ก่อนครับ เหมือนกับเด็กที่เปรียบเป็นผ้าขาวแล้วโดนย้อมสีนั่นแหละ แต่ Noam Chomsky เขาได้เสนอทฤษฎี Universal Grammar เหมือนกับว่ามนุษย์มีสิ่งที่คล้ายๆ โปรแกรมเรียนรู้ภาษาอยู่ในสมองอยู่แล้วครับ เพราะว่าเราสามารถผลิตคำใหม่ขึ้นมาได้ ถึงแม้เราจะไม่เคยได้ยินคำนั้นเลยก็ตาม อย่างเช่นถึงแม้พ่อแม่ไม่เคยสอนคำหยาบให้เด็กเลย เด็กก็อาจจะพูดคำหยาบขึ้นมาเองก็เป็นได้ เพราะว่ามนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้ภาษา หรือ Competency ติดตัวมาแต่กำเนิดอยู่แล้วนั่นเอง
     อาจมองได้ว่า ทฤษฎีนี้มีส่วนสำคัญในการเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ ได้ครับ ผมคิดว่าถ้าเราศึกษากลไกการทำงานของสมองในด้านการเรียนรู้ภาษาแล้วละก็ อาจจะทำให้เกิดวิธีการเรียนรู้ภาษาที่สองที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามีการศึกษาในด้านนี้หรือยัง หรือว่าศึกษากันไปถึงขั้นไหนแล้ว ใครรู้ก็คอมเม้นต์มาบอกได้นะครับ

     จะว่าไปเมื่อวานเป็นวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่ผมไปสอบข้อเขียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นครับ มีบทอ่านหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นบทอ่านเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษานี่แหละครับ เขาบอกว่ามนุษย์จะเข้าใจความหมายของคำศัพท์คำหนึ่งได้ด้วยการลำดับเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ในความทรงจำครับ มีตัวอย่างที่วา่คนญี่ปุ่นเมื่อเกิดมาได้ยินคำว่า やわらかい ตอนเป็นเด็กเล็กถึงแม้จะได้ยินมา แต่ก็ยังไม่เข้าใจความหมายหรอก พอได้ยินผู้ใหญ่พูดในหลายๆ สถานการณ์ เช่น คนนั้นให้ความรู้สึก やわらかい ขลุ่ยนี้มีเสียง やわらかい และแสงแดด やわらかい พอได้ยินแล้วสมองก็จะประมวลผลแต่ละเหตุการณ์ในความทรงจำครับ แล้วก็เข้าใจความหมายจนถึงขั้นแยกว่าแต่ละบริบท คำว่า やわらかい มีความหมายต่างกันอย่างไร ในทางกลับคนญี่ปุ่นที่เรียนภาษาอังกฤษ ถึงแม้จะอ่านจากหนังสือเรียน และเปิดพจนานุกรมมาด้วย ก็ยังเข้าใจความหมายของคำศัพท์คำหนึ่งได้ไม่ดีพอ นั่นเป็นเพราะยังมีความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับคำศัพท์คำนั้นไม่มากพอครับ
     จากบทอ่านนี้ ผมได้เรียนรู้ว่าสอมงของคนเรามีความสามารถในการเรียนรู้ภาษาอยู่ บทอ่านนี้ได้ยกตัวอย่างที่สัมพันธ์กับทฤษฎีนั้นครับ แล้วผมก็ตระหนักได้ว่าในการเรียนภาษาที่สองนั้น สภาพแวดล้อมรอบตัวก็เป็นสิ่งจำเป็นครับ สภาพแวดล้อมที่มีการใช้ภาษาที่สองรอบตัวทำให้เราเกิดการสั่งสมความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับภาษานั้นๆ ทำให้สมองเกิดการประมวลผลให้เราเกิดความเข้าในคำศัพท์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
     สำหรับคนที่งงว่าบทอ่านนั้นเป็นยังไง ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะหาบทอ่านที่เหมือนกับกับที่อยู่ในข้อสอบเป๊ะๆ ได้จากไหน แต่ผมก็เจอลิงก์ที่มีการยกตัวอย่างเกี่ยวกับคำว่า やわらかい เหมือนในข้อสอบเลยครับ เชิญอ่านได้ตามลิงก์นี้ครับ
http://subaru-ss.jp/wp-content/uploads/2016/03/%E5%B8%8C%E6%9C%9B%E3%83%B6%E4%B8%98_%E5%95%8F%E9%A1%8C.pdf
https://cds190.exblog.jp/3408644/

     เอาละ ผมขอจบการเขียนบล็อกนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณสำหรับคนที่อ่านมาถึงตรงนี้นะครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. เสียดายลิงค์บทอ่านหมดอายุแล้ว...อดอ่านเลย น่าสนใจมากค่ะ

    ตอบลบ

10. บทสรุป

     สวัสดีครับ ตอนที่ผมกำลังเขียนบล็อกอยู่นี้ก็ตอนตีหนึ่งกว่าๆ แล้ว อยากจะบอกไว้ในที่นี้ว่า บล็อกนี้เป็นบล็อกสุดท้ายแล้วนะครับ ผมจะมาสรุปเก...